วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้ ตัวเอง กับ วัฎจักรแมงเม่า

 

 จากกราฟ และ จุดประกอบ จะมีรายละเอียดดังนี้คือ
A คือ “แหยง ไม่กล้าซื้อ” : คือช่วงเวลาหลังหุ้นตกลงมาอย่างมากจนถูกสุดๆ แต่นักลงทุนรายย่อยจะไม่กล้าซื้อ เพราะเพิ่งขาดทุนมา ยังเข็ดไม่หาย และแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่วิเคราะห์คือ มีโอกาสลงต่อ ( ณ จุด ที่หุ้นราคาถูก คุณไม่มีทางทราบว่า ราคาถูกที่สุดหรือยัง จนกว่ามัน จะผ่านมาสักระยะ แล้วมองย้อนไปในอดีต ถึงจะรู้ว่า ช่วงเวลาใดที่ ราคาหุ้นถูกที่สุด แต่ไม่ต้องเสียดาย เพราะเราไม่ได้คาดหวังให้คุณซื้อได้ถูกที่สุด แต่ต้องถูกกว่า อาทิตย์หน้า เป็นพอ)

B คือ “ขายหมู (สำหรับคนมีหุ้น) : ช่วงที่เพิ่งเริ่มขึ้นใหม่ๆ คนจะยังไม่มั่นใจ คนที่ถือหุ้นเอาไว้ (อาจจะซื้อที่ยอดดอย หรือ ซื้อที่ราคาต่ำ) ก็จะขายทำกำไรออกมาก่อน ซึ่งช่วงนี้ ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อบีบให้คนกลัวขายออกมาให้หมด และจะขึ้นแบบไม่มีวอลุ่มมาก แสดงว่า แมงเม่า ยังไม่เข้ามาแจม

C คือ “ตกรถ ( เสียดาย)” : เมื่อรายย่อยขายหุ้นออกไปจำนวนมาก ราคาจะเริ่มขึ้นเร็วขึ้น มีแต่คนบ่นว่าตกรถ แต่ก็ไม่กล้าซื้อ ช่วงนี้ เซียนหุ้นมือใหม่ (แมงเม่านั่นเอง) จะแสดงความเก่งว่า “เดี๋ยวมันก็ลงมา เราจะไม่หลงกลเข้าไปซื้ออีก เด็ดขาด”

D คือ “ไล่ซื้อตาม (ยังไม่ประมาท)” : หลังจากอดทนรอ อยู่นาน ก็จะเริ่มทนไม่ไหว เพราะราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไปต่อ ยิ่งหุ้นที่เราเคยเล่นด้วยแล้ว มันน่าเข้าไปเล่นตามน้ำ เอากำไรเล็กๆ น้อยๆ แก้เบื่อดีกว่าอยู่เฉยๆ

E คือ “ขายทำกำไร (เริ่มลำพอง)” : หลังจากเข้าไปซื้อหุ้นที่ตัวเอง เคยเล่น ก็สามารถหาจังหวะขายตามน้ำได้ และได้กำไรกันเล็กๆน้อย เพราะเอากำไรในช่วงสั้นๆ ช่วงนี้รายย่อยจะเข้ามาในตลาดกันเยอะ และยิ่งกำไร จะยิ่งลำพองมากขึ้น

F คือ “ขายแล้ววิ่งต่อ (เสียดาย น่าจะซื้อเยอะกว่านี้ และ รออีกหน่อย)” : หลังจากที่ขายหุ้นทำกำไรไปแล้ว ราคาหุ้น อาจจะวิ่งไปต่ออีกหน่อย และเป็นช่วงที่มีปริมาณการซื้อขายสูงมากที่สุด แสดงว่า รายย่อยเข้ามาเต็มตลาดแล้ว และ หุ้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนมือ สู่มือรายย่อยกันเยอะขึ้น

G คือ “ลงมาให้ซื้อกลับ ( ดีใจมากที่มันลงมาต่ำกว่าที่เคยขายไป)” : หลังจากตลาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ก็มีการปรับตัวลงมาบ้าง ซึ่งตอนนี้ จะมีรายย่อยเข้ามารับหุ้นกลับ

H คือ “โลภซื้อเพิ่ม ( คิดว่ามันคงจะเด้งกลับไป)” : หลังจากซื้อไปแล้ว หุ้นยังลงมาต่อ ด้วยความโลภ อยากเอากำไรให้ เต็มที่กว่าคราวที่แล้ว จึงซื้อเพิ่ม ด้วยความดีใจว่า ซื้อได้ถูกกว่าเดิมอีก

I คือ “เครียด แต่ไม่ขาย ( เริ่มเสียวๆ แต่ขายไม่ลง)” : หลังจากซื้อถัวไป หลายรอบเงินก็เริ่มหมด แต่หุ้นก็ยังลงต่อ การจะตัดใจขายก็ทำไม่ลง เพราะต้นทุนครั้งแรก ก็สูงเหลือเกิน กะว่าจะรอให้มันเด้งอีกสักทีจะขาย

J คือ “ตัดใจขาย ( กลัวขาดทุนเพิ่ม)” : อดทน อยู่ในความเครียด เห็นหุ้นลงต่อเนื่องมาหลายวัน เริ่มทนไม่ได้ และ หุ้นก็มีแนวโน้มจะลงต่อ เป็นช่วงที่ตลาดจะมีข่าวร้ายเข้ามามากกว่าข่าวดี เพื่อป้องการการขาดทุนมากกว่านี้ จึงตัดใจขาย และคิดว่า จะไม่ไปยุ่งกับ หุ้นตัวนี้อีก

A คือ “แหยง ไม่กล้าซื้อ” และ พอหุ้นลงมาถูกกว่าเดิม ก็ไม่คิดจะกลับไปซื้อแล้ว เพราะ เข็ดกับมันอย่างมาก
B , C , D, E , F , G , H , I , J , A แล้ว ก็วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขาดทุนจนเลิกเล่นหุ้น แล้วคนใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ นี่คือ วัฎจักรแมงเม่าไทย นิทาน ที่เล่าสู่กันฟัง แต่ไม่มีใครเลย คิดทำอะไรที่แตกต่างจากนี้ เฮ้อ ! 

สิ่งที่เล่ามา ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับวงการหุ้นไทยเลย มีการเขียนเรื่องราวประมาณนี้ ในหลายๆ กระทู้ในเว็บไซต์ แล้วก็จะมีคนอ่าน เข้ามาเห็นด้วย ว่าจริง อย่างนู้น จริงอย่างนี้ ปีแล้ว ปีเล่า กระทู้ลักษณะนี้ ก็ยังมีคนใหม่ๆมาเขียนเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเรียนรู้ ที่จะเปลี่ยนแปลงเลย เพราะมันเป็นเรื่อง ของ สัญชาติญาณมนุษย์ ที่แก้ไม่ได้ มันอยู่ในจิตใจ คนทุกคนดังนี้

สัญชาติญาณมนุษย์ กับ วัฎจักรแมงเม่า
เมื่อกลัวก็ จะหลีกเลี่ยง
มนุษย์ทุกคน จะมีจิตใต้สำนึกที่จะหลีกเลี่ยงที่จะทำในสิ่งที่กลัว ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีความกลัวบางสิ่งตั้งแต่เกิดไม่เท่ากัน ดังนั้นคนแต่ละคนจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน บางคนจึงชอบเล่นกีฬาอันตราย อย่าง ปีนเขาได้ บางคนเล่น สกี หรือ บางคนเล่น โบวลิ่ง เป็นต้น การเล่นหุ้น แต่ละคน ก็จะมีระดับความกล้าเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่นกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ หากคุณถูกทำให้กลัวในสิ่งใด แล้ว คุณจะจดจำความกลัวนั้นไว้ในใจ และจะไม่กล้าทำสิ่งนั้นอีกในช่วงเวลาๆ สั้นๆนั้น เช่น เมื่อหุ้นที่ซื้อตกหนัก จนคุณขาดทุนมาก และต้องตัดขาดทุนไป อย่างเจ็บปวด เมื่อหุ้นตัวนั้นเริ่มขึ้นไปอีกครั้ง ในช่วงเริ่มต้น คุณจะไม่กล้าซื้อ จึงช่วง A ว่า “แหยงไม่กล้าซื้อ”

เมื่อกำไร จะลำพอง และคิดว่าตนเก่ง
คนทุกคนเมื่อประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง ต่อมต่างๆจะหลั่งฮอร์โมน ออกมาทำให้รู้สึก สบายใจ, ดีใจ และมั่นใจ ยิ่งถ้าคุณสามารถทำสิ่งเดิมสำเร็จ ซ้ำอีกครั้ง ความมั่นใจจะมากขึ้น กลายเป็นความ ลำพอง และเมื่อมั่นใจมากถึงจุดหนึ่งคุณ จะลืมตัว และ ประมาทในสิ่งที่ทำ ดังนั้นช่วงปลายตลาดขาขึ้น เมื่อรายย่อยมั่นใจกันสุดๆ วอลุ่มจะเยอะเป็นพิเศษ เพราะรายย่อยจะกล้านำเงินมาเพิ่มในการลงทุน ด้วยความประมาท และความโลภ จากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อผิดพลาด จะไม่ยอมรับ
โดยธรรมชาติของคนแล้ว คนส่วนใหญ่เวลาทำผิดพลาด มักที่จะไม่ยอมรับ จะพยายามหาข้อแก้ตัวให้ตัวเองเสมอ อย่าได้แปลกใจเลยที่คุณก็เป็นแบบนี้ เพราะมันเป็นสัญชาติญาณในการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งของมนุษย์ ยิ่งหากเป็นช่วงที่คุณกำลังมีความมั่นใจเป็นพิเศษแล้ว จะยิ่งลำพอง และไม่ยอมรับในความผิดพลาด เช่นเมื่อตลาดหุ้นเริ่มลงแล้ว รายย่อยบางคน อาจซื้อหุ้นแล้วติดหุ้น แต่แทนที่จะยอมรับความผิดพลาด กลับไปซื้อเพิ่ม เพื่อถัวเฉลี่ย ยิ่งลง ยิ่งซื้อ ทุ่มไปสุดตัวไม่ยอมรับความจริงตั้งแต่ ที่พลาดครั้งแรกแล้วว่า ทำไมหุ้นที่เราซื้อเพราะคิดว่ามันจะขึ้น แต่มันลง แสดงว่าเราคิดผิดตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อคิดผิดก็ควรยอมรับแล้ว หยุดทำผิดซ้ำเข้าไปอีก มากกกว่าเมื่อความ

กลัวมากถึงจุดจำกัด ก็จะทำอะไรสักอย่าง
คนเราเมื่อทำผิดมักไม่ยอมรับว่าทำผิด แต่ในใจก็ยังมีความกลัวความผิดอยู่ ยิ่งเวลาผ่านไป ความรู้สึกกลัวจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จากสติที่เริ่มกลับมา และเมื่อความผิดพลาดมันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ความกลัวก็จะมากขึ้นตามไป จนถึงจุดหนึ่งที่ ร่างกายและจิตใจรับไม่ไหว สมองจะสั่งการให้เราตัดสินใจทำอะไร สักอย่างเพื่อ “หยุด” ความเลวร้ายที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจอยู่ให้หมดไป เรียกว่าเป็น การป้องกันตนเอง ขั้นสุด ของมนุษย์ หรือ หมาจนตรอก นั่นเอง ถึงจุดนี้เราจะสามารถทำอะไรที่เลวร้ายได้ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดมากเท่าไร หากเป็นหุ้น ก็คือสามารถขายขาดทุน 50% ได้ หรือหากเป็นธุรกิจ ก็คือช่วง ตัดสินใจ เลิกกิจการ นั่นเอง เมื่อทำแล้ว จะสบายใจขึ้น แต่ก็จะกลัวสิที่งที่เกิดขึ้น สุดชีวิต และจะไม่กลับไปทำแบบเดิมอีก ( กลับเข้ามาวัฎจักร เมื่อกลัวจะหลีกเลี่ยงอีกครั้ง)

วัฎจักร ขายหมู ตกรถ ติดดอย ขายขาดทุน จึงเกิดซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้น ก่อนจะเริ่ม ศึกษาการซื้อหุ้น ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ เสียก่อน หากทำได้ยาก อาจใช้วิธี คิดแผนการลงในสมุด แล้วยึดเอาแผนการในสมุดเป็นที่ตั้ง ไม่เอา อารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง