วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนตัดไม้กับนักเล่นหุ้น

ในโลกของพนักงานประจำ บ่อยครั้งเราต้องก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างหนักจนแทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ทราบหรือไม่ครับว่าชีวิตของนักเล่นหุ้นเองก็เป็นเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ

พักก่อนมั๊ย? วางแผนก่อนมั๊ย?
เมื่อ ผมเห็นเพื่อนถูกบีบให้ต้อง "ปั่นงาน" ส่งหัวหน้าให้ทันเวลา บอกให้พักก็ไม่พัก เสร็จแล้วงานก็ออกมาผิดๆ พลาดๆ ต้องแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่จริงหากเขาเพียงแต่จะหยุด... และวางแผนสักหน่อย เขาอาจจะพบวิธีบริหารเวลาและทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามเวลาได้ไม่ยากเลย

ผม เปรียบเทียบเรื่องนี้กับคนตัดไม้ที่ไม่ยอมลับขวานก่อนตัดไม้ ด้วยความที่มีเวลาจำกัด คนตัดไม้รีบคว้าขวานวิ่งเข้าไปฟันๆๆๆ ต้นไม้อย่างไม่คิดชีวิต แม้ชาวบ้านที่เดินผ่านมาจะท้วงว่าขวานของเขาทื่อจนไม่กินเนื้อไม้ คนตัดไม้ก็ไม่สนใจ เขาให้เหตุผลว่าหากเขาหยุดแม้เพียงหนึ่งนาที งานของเขาก็อาจไม่เสร็จ ในสมองของเขารู้แต่เพียงว่ายิ่งเขาเร่งมือเท่าไหร่ งานก็ยิ่งเสร็จเร็วเท่านั้น

ระบบความคิดของคนตัดไม้ คือ

[งาน] = [ความเร็วในการทำงาน] x [เวลา]

จึง ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะรีบร้อน (เพิ่มความเร็วในการทำงาน) และไม่ยอมหยุดพัก (เพิ่มเวลาทำงาน) ทั้งที่จริงแล้วหากเขาเพิ่ม "ประสิทธิภาพ" ในการทำงานด้วยการคิดและวางแผน เขาอาจเพิ่มความเร็วในการทำงานขึ้นได้หลายเท่าและทำงานเสร็จได้โดยไม่ต้องทำ งานหามรุ่งหามค่ำ น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ทำ

ผ่านไปครึ่งชั่วโมง สภาพของคนตัดไม้เหงื่อโทรมกาย แต่รอยขวานยังกินเนื้อไม้ไปไม่ถึงไหนเลยด้วยซ้ำ เขาหยุดดูผลงานตัวเองเพียง 2-3 วินาทีด้วยความระทดท้อ แต่ก็กลับมาเหวี่ยงขวานอย่างเดิมอีก

ยิ่งเล่นหุ้น ยิ่งเจ๊ง

ราว กับคนตัดไม้กลับชาติมาเกิด นักเล่นหุ้นมือใหม่หลายคนคิดว่าถ้าเขาทำกำไรจากหุ้นด้วยการ "เล่นรอบ" ซื้อถูกขายแพงรอบแล้วรอบเล่า ยิ่งเวียนซื้อได้บ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งรวยเร็วเท่านั้น พฤติกรรมนี้ไม่ต่างอะไรกับคนตัดไม้ที่ในใจคิดแต่จะเหวี่ยงขวานทื่อๆ

ระบบความคิดของนักเล่นหุ้นเหล่านี้ คือ

[กำไร] = [กำไรต่อรอบ] x [จำนวนรอบ]

พวก เขาจึงพยายามเล่นหุ้นทุกวันหรือเล่นรอบสั้นๆ บ่อยๆ และเข้าออกอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากนักเก็งกำไรมือโปรที่ระบบความคิดของพวกเขา คือ

[กำไร] = [กำไรเฉลี่ย] x [จำนวนครั้งที่กำไร] - [ขาดทุนเฉลี่ย] x [จำนวนครั้งที่ขาดทุน]

สังเกต ว่าพวกมืออาชีพเขาคิดทั้งกำไรและขาดทุน จึงมักอยู่รอดได้ในระยะยาว นอกจากนี้พวกเขายังคิดต่อว่าจะเพิ่มกำไรเฉลี่ยได้อย่างไร และพยายามไม่เทรดบ่อยครั้ง เพราะโจทย์ไม่ได้อยู่ที่ความบ่อย แต่อยู่ที่ความแม่น พวกเขาจึงมักอ่านหนังสือและใช้เวลาค้นคว้าอย่างจริงจังที่จะตีโจทย์เหล่านี้

ผิด กับนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่นที่มักพร่ำสอนกันและกันว่า อ่านหนังสือไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ลงมือเล่นหุ้นจริงๆ ไปเลยดีกว่า ถึงขาดทุนก็ถือว่าเป็น "ค่าเรียนรู้" ก็แล้วกัน ...แนวคิดนี้ส่งเสริมให้คนหลับหูหลับตาเล่นหุ้นต่อไปอย่างเมามันด้วยความ หวังว่าการขาดทุนที่พวกเขาพบเจอจะทำให้ได้เรียนรู้

ในทำนองเดียวกับ คนตัดไม้ที่หยุดลับขวานก่อนลงมือตัดไม้ นักเล่นหุ้นก็ควรเพิ่มพูนความรู้ก่อนซื้อหุ้นด้วยเช่นกัน ลองถามตัวเองดูก่อนว่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นด้วยการอ่าน แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องไปเปลืองเงินทองละลายไปในตลาดหุ้น เพียงเพื่อให้ได้เนื้อหาเดียวกันนั้น?

จริงอยู่ว่าความรู้และ ประสบการณ์ทั้งหมดไม่ได้อยู่อย่างสมบูรณ์ในหนังสือ แต่ถ้าเราจะหา shortcut เรียนรู้ไปก่อนระดับหนึ่ง เราย่อมประหยัดเงินทองที่จะต้องเป็น "ค่าเรียนรู้" ไปได้มาก หนังสือ 200-300 บาท อาจเทียบเท่าค่าเรียนรู้ในตลาดหุ้นเป็นหมื่นเป็นแสนบาทนะครับ คนที่ประหยัดค่าหนังสือ (ที่จริงไปยืมห้องสมุดมารวยอ่านก็ได้) จึงมักจะเล่นหุ้นเจ๊ง ยิ่งเล่นก็ยิ่งเจ๊ง

คำแนะนำ

ผม แนะนำให้นักลงทุนทุกท่าน "ลับขวานก่อนตัดไม้" เพื่อให้แน่ใจว่าขวานที่คุณมีจะทำให้คุณตัดไม้ได้ง่ายและเร็วขึ้น อย่าลังเลที่จะหยุดเพื่อคิดและวางแผน รวมทั้งลับขวานอยู่เป็นระยะๆ แล้วปริมาณไม้ที่คุณตัดได้จะตามมาเอง

ขอขอบคุณ  http://www.monkeyfreetime.com